Lassalle, Ferdinand (1825-1864)

นายแฟร์ดีนานด์ ลัสซาลล์ (๒๓๖๘-๒๔๐๗)

​​​​    แฟร์ดีนานด์ ลัสซาลล์เป็นนักการเมืองและผู้จัดตั้งสมาคมกรรมกรเยอรมันทั่วไป (Allegemeiner Deutscher Arbeiterverein - General German Workers’ Association) เขาสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปการเมืองภายในกรอบของกฎหมาย กลุ่มที่สนับสนุนแนวความคิดของเขาที่เรียกว่าพวกลัสซาลเลียน (Lassalleans) มีบทบาทสำคัญทางความคิดทางการเมืองของเยอรมนีในช่วงทศวรรษ ๑๘๗๐

​    ลัสซาลล์เกิดในครอบครัวชาวยิวที่มั่งคั่งเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ค.ศ. ๑๘๒๕ ที่เมืองเบรสเลา (Breslau) ราชอาณาจักรปรัสเซีย [ปัจจุบันคือเมืองวรอตสวาฟ (Wroclaw) โปแลนด์] เฮย์มานน์ลาซาล (Heymann Lasal) บิดาเป็นพ่อค้าส่งผ้าไหมและเป็นนายกเทศมนตรี เขาได้ศึกษาในโรงเรียนมัธยมเบรสเลา แต่ถูกไล่ออกเนื่องจากถูกจับได้ว่าปลอมลายมือในเอกสารสำคัญของโรงเรียน บิดาต้องการให้เขาสืบสานอาชีพพ่อค้า จึงส่งไปเรียนในโรงเรียนพาณิชย์ที่เมืองไลพ์ซิก (Leipzig) ใน ค.ศ. ๑๘๔๐ แต่ในปีรุ่งขึ้นเขาก็กลับมาเรียนต่อที่เบรสเลาจนจบชั้นมัธยม (ค.ศ. ๑๘๔๑-๑๘๔๓) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๓-๑๘๔๔ เขาเข้าศึกษาวิชาปรัชญา ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และโบราณคดีที่ มหาวิทยาลัยเบรสเลา จากนั้นไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลินระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๔-๑๘๔๕ วิชาที่เขาชอบมากคือภาษาศาสตร์และปรัชญา ในช่วงเวลาดังกล่าว เขาสนใจแนวความคิดของนักปรัชญาเยอรมัน เก. เว. เอฟ. เฮเกล (G.W.F. Hegel) และลุดวิกฟอยเออร์บัค (Ludwig Feuerbach) รวมทั้งนักคิดสังคมนิยมยูโทเปียชาวฝรั่งเศส ในช่วง ค.ศ. ๑๘๔๕-๑๘๔๗ เขาศึกษาวิชาปรัชญาต่อในมหาวิทยาลัยปารีสโดยมุ่งหวังจะยึดอาชีพเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เขาเขียนวิทยานิพนธ์ว่าด้วยปรัชญาของเฮราคลิตัส (Heraclitus) จากแง่มุมปรัชญาของเฮเกล แต่ยังเขียนไม่เสร็จในขณะนั้นที่ กรุงปารีสเขามีโอกาสพบและรู้จักนักทฤษฎีสังคมนิยมฝรั่งเศส ปีแยร์ โชแซฟ ปรูดง (Pierre-Joseph Proudhon) และไฮน์ริช ไฮน์ (Heinrich Heine) กวีเยอรมัน

​    ในปลาย ค.ศ. ๑๘๔๕ ลัสซาลล์พบเคาน์เตสโซฟี ฟอน ฮัทซ์เฟลท์ (Sophie von Hatzfeldt) ที่กรุงเบอร์ลิน เธอแยกจากสามีมาหลายปีและพยายามหย่าขาดจากเขาแต่ตกลงกันไม่ได้ในปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินและสิทธิการเลี้ยงดูบุตร แม้จะไม่ได้ศึกษากฎหมายแต่เขาก็ต้องการช่วยเหลือเธอด้วยการไปเรียนกฎหมายและต่อมาเป็นทนายความให้โดยนำคดีหย่าร้างของเคาน์เตสขึ้นศาลถึง ๓๖ ครั้ง ใน ค.ศ. ๑๘๕๔ เขาทำให้สามีภริยาตกลงผลประโยชน์กันได้และเคาน์เตสหย่าขาดได้สำเร็จ เคาน์เตสจึงตอบแทนเขาเป็นเงินรายปี ปีละ ๔,๐๐๐ ทาเลอร์ (Thalers) ซึ่งทำให้เขาดำรงชีพได้อย่างสุขสบาย อย่างไรก็ตาม กระบวนการต่อสู้คดีที่ยาวนานถึง ๑๐ ปีนี้ทำให้เกิดเรื่องซุบซิบอื้อฉาวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างลัสซาลล์กับเคาน์เตสและโดยเฉพาะกรณีกล่องเพชร (Casket Affair) เคานต์ฮัทซ์เฟลท์ได้นำกล่องเพชรไปให้ภรรยาคนใหม่เพื่อเป็นของกำนัลชดเชยเงินก้อนใหญ่ที่จ่ายแก่ภริยาคนแรก แต่เพื่อนของลัสซาลล์ ๒ คนกลับไปขโมยกล่องเพชรมาให้เคาน์เตสและถูกจับได้หนึ่งในจำนวน ๒ คนถูกตัดสินจำคุก ๖ เดือนด้วยข้อหาลักทรัพย์ ลัสซาลล์ถูกข้อหาเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด แต่เขายื่นอุทธรณ์และต่อมาถูกปล่อยตัวเพราะขาดหลักฐาน

​    ใน ค.ศ. ๑๘๔๘ เมื่อมีการจัดตั้งสันนิบาตคอมมิวนิสต์ (Communist League) ขึ้น ลัสซาลล์ได้เข้าเป็นสมาชิกและเขาสนับสนุนแนวความคิดของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* นักสังคมนิยมชาวเยอรมันที่เขียนไว้ในหนังสือแถลงการณ์คอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto)* ซึ่งเสนอหลักนโยบายพื้นฐานทั่วไปของลัทธิคอมมิวนิสต์ ต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ทั่วยุโรป ลัสซาลล์เข้าร่วมการเคลื่อนไหวก่อการปฏิวัติในเยอรมนีเพื่อเรียกร้องระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ประสบความล้มเหลวและถูกจับในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๔๘ เขาถูกตัดสินจำคุกที่เมืองดึสเซลดอร์ฟ (Düsseldorf) เป็นเวลา ๑ ปีและถูกห้ามไม่ให้อาศัยอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน หลังจากพ้นโทษเขาไปอยู่ที่เขตไรน์แลนด์ (Rhineland) และเลิกยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองโดยหันมาสนใจเรื่องขบวนการกรรมกร ในช่วงเวลาเดียวกันเขากลับมาแก้ไขและเขียนงานวิทยานิพนธ์จนสำเร็จ

​    ใน ค.ศ. ๑๘๕๙ ลัสซาลล์ปลอมตัวเป็นคนขับรถส่งของกลับเข้ามาที่กรุงเบอร์ลินและได้รับความช่วยเหลือจากอะเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมบอลท์ (Alexander von Humboldt) ซึ่งมีอิทธิพลในสังคม ในการติดต่อกับรัฐบาลเพื่อช่วยให้เขาอาศัยอยู่ที่กรุงเบอร์ลินได้ ในปีเดียวกัน เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับสงครามในอิตาลีโดยต่อต้านการที่ปรัสเซียจะช่วยเหลือออสเตรียทำสงครามกับฝรั่งเศส เขาเสนอความเห็นว่าหากฝรั่งเศสสามารถขับออสเตรียออกจากอิตาลีได้ก็อาจผนวกดินแดนของราชวงศ์ซาวอย (Savoy) แต่ฝรั่งเศสก็จะไม่สามารถขัดขวางพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ (Victor Emmanuel II)* ในการรวมชาติอิตาลี (Unification of Italy) ได้ ดังนั้น ปรัสเซียควรสร้างพันธมิตรกับฝรั่งเศสเพื่อต่อต้านออสเตรียซึ่งจะทำให้ปรัสเซียมีอำนาจมากขึ้นในดินแดนเยอรมันงานเขียนเรื่องนี้มีส่วนทำให้ลัสซาลล์เป็นที่รู้จักมากขึ้นลัสซาลล์หันมายึดอาชีพนักหนังสือพิมพ์การเมืองเพราะคิดว่ากระแสการปฏิวัติในยุโรปได้สิ้นสุดลง เขาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในกรอบของกฎหมายทัศนะที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เขาเริ่มขัดแย้งกับมากซ์และแยกทางกันในท้ายที่สุด

​    ลัสซาลล์มีบทบาทมากขึ้นในทางการเมืองเมื่อเกิดปัญหาความขัดแยังในการปฏิรูปการเมืองระหว่างอัครมหาเสนาบดีออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* กับกลุ่มเสรีนิยมในรัฐสภา เขามีความคิดสอดคล้องกับบิสมาร์คในการสร้างรัฐสวัสดิการภายใต้ระบอบกษัตริย์ บิสมาร์คจึงใช้ลัสซาลล์เป็นกระบอกเสียงโจมตีกลุ่มเสรีนิยม ลัสซาลล์กลายเป็นนักปลุกระดมทางการเมืองเดินทางไปทั่วดินแดนเยอรมันเพื่อรณรงค์การปฏิรูปการเมือง และขณะเดียวกันก็เริ่มเคลื่อนไหวทางความคิดในหมู่กรรมกรให้ตื่นตัวทางการเมืองเพื่อจัดตั้งองค์การกรรมกรขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๖๓ ลัสซาลล์จัดตั้งสมาคมกรรมกรเยอรมันทั่วไปขึ้นที่เมืองไลพ์ซิกและดำรงตำแหน่งเป็นนายกคนแรกของสมาคมโดยมีวาระ ๕ ปี สมาคมกรรมกรเยอรมันทั่วไปนับเป็นพรรคแรงงานพรรคแรกของเยอรมนี (ระหว่างวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๖๓ ถึง ๓๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๖๔) และในเวลาต่อมาได้เข้าร่วมกับพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (Social Democratic Workers’ Party of Germany) เป็นพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน (German Social Democratic Party - SPD)* ใน ค.ศ. ๑๘๗๕ อย่างไรก็ตาม การที่สมาชิกเอสพีดีส่วนหนึ่งสนับสนุนแนวความคิดของลัสซาลล์ในการต่อสู้ภายในกรอบของกฎหมายและร่วมมือกับนายทุนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็ทำให้ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับสมาชิกที่นิยมแนวทางการปฏิวัติลัทธิมากซ์ (Marxism)* ซึ่งมีแฟร์ดีนานด์ เอากุสท์ บาเบิล (Ferdinand August Babel) และวิลเฮมล์ ลีบเนชท์ (Wilhelm Liebknecht)* เป็นผู้นำ ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๖๓-๑๘๖๔ ลัสซาลล์พยายามผลักดันแนวทางการปฏิรูปของเขาให้เป็นที่ยอมรับในหมู่กรรมกรและปัญญาชนเสรีนิยมแต่ประสบความสำเร็จไม่มากนัก ขณะเดียวกันสมาชิกสมาคมกรรมกรเยอรมันทั่วไปที่เห็นว่าการบริหารงานของลัสซาลล์มีลักษณะเป็นเผด็จการมากขึ้นทั้งยังชอบให้คนป้อยอยกย่องก็เริ่มต่อต้านเขา

​    ใน ค.ศ. ๑๘๖๔ ลัสซาลล์ไปพักผ่อนที่สวิตเซอร์แลนด์และมีโอกาสรู้จักและพบรักกับเฮเลเนอ ฟอน ดอนนิกส์ (Helene von Donniges) ธิดาของนักการทูตบาวาเรียประจำเจนีวา แต่ครอบครัวของเธอขัดขวาง และกักบริเวณเฮเลเนอไว้ในห้องนอน ทั้งบังคับเธอให้ตัดความสัมพันธ์กับลัสซาลล์เพื่อสมรสกับเคานต์ ฟอน ราโควิทซา (von Racowitza) ลัสซาลล์จึงท้าดวลกับบิดาของเฮเลเนอและเคานต์ราโควิทซา ซึ่งราโควิทซารับท้าดวลครั้งนี้ การดวลเกิดขึ้นในเช้าวันที่ ๒๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๖๔ ที่ป่าเล็กๆ ใกล้นครเจนีวา ลัสซาลล์ได้รับบาดเจ็บสาหัสและสิ้นชีวิตอีก ๓ วันต่อมา เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๑๘๖๔ รวมอายุได้ ๓๙ ปี ศพของเขาถูกนำมาฝัง ณ สุสานเก่าของชาวยิวที่เบรสเลาต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๘๐ จอร์จ เมเรอดิท (George Meredith) นักเขียนชาวอังกฤษได้นำเหตุการณ์การท้าดวลครั้งนี้ไปเขียนเป็นนวนิยายเรื่อง The Tragic Comedians หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เอดูอาร์ด แบร์นชไตน์(Eduard Bernstein)* นักสังคมนิยมชาวเยอรมันเชื้อสายยิวได้รวบรวมสุนทรพจน์ และข้อเขียนของลัสซาลล์ทั้งหมดมารวมพิมพ์เป็นหนังสือได้ ๑๒ เล่ม ซึ่งทำให้ลัสซาลล์และแนวความคิดของเขาเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างมากขึ้น



คำตั้ง
Lassalle, Ferdinand
คำเทียบ
นายแฟร์ดีนานด์ ลัสซาลล์
คำสำคัญ
- ฮุมบอลท์, อะเล็กซานเดอร์ ฟอน
- ลัสซาลล์, แฟร์ดีนานด์
- แบร์นชไตน์, เอดูอาร์ด
- ลัทธิมากซ์
- ลีบเนชท์, วิลเฮล์ม
- วิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒, พระเจ้า
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- แถลงการณ์คอมมิวนิสต์
- ไรน์แลนด์, เขต
- กรณีกล่องเพชร
- ดึสเซลดอร์ฟ, เมือง
- ไลพ์ซิก, เมือง
- เบรสเลา, เมือง
- ปรูดง, ปีแยร์ โชแซฟ
- ลัสซาลเลียน, พวก
- ลาซาล, เฮย์มานน์
- สมาคมกรรมกรเยอรมันทั่วไป
- มากซ์, คาร์ล
- ฟอยเออร์บัค, ลุดวิก
- ซาวอย, ราชวงศ์
- สันนิบาตคอมมิวนิสต์
- วรอตสวาฟ, เมือง
- การรวมชาติอิตาลี
- ฮัทซ์เฟลท์, เคาน์เตสโซฟี ฟอน
- ไฮน์, ไฮน์ริช
- เมเรอดิท, จอร์จ
- ดอนนิกส์, เฮเลเนอ ฟอน
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- เฮเกล, เก. เว. เอฟ.
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
- พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1825-1864
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๖๘-๒๔๐๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ปราณี ศิริจันทพันธ์
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf